วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

แผนการจัดการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
หน่วยการเรียนรู้ที่ 6 งานช่าง เวลา 6 ชั่วโมง
เรื่อง งานช่างพื้นฐาน เวลา 2 ชั่วโมง

สาระสำคัญ
งานช่างพื้นฐานเป็นงานที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง และเป็นงานที่ใช้ในชีวิต ประจำวันงานช่างพื้นฐานส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เกี่ยวกับการซ่อมแซม ปรับปรุง แก้ไข อุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน การปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานช่างพื้นฐานความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องรู้ถึงสาเหตุที่อาจเกิดอุบัติเหตุ และรู้จักวิธีป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนสามารถปฐมพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1. บอกความหมาย ความสำคัญ และประโยชน์ของงานช่างได้
2. อธิบายลักษณะของงานช่างพื้นฐานได้
3. อธิบายหลักการป้องกันอันตรายส่วนบุคคลได้
4. อธิบายหลักปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานได้

สาระการเรียนรู้
1. ความหมายและความสำคัญของานช่าง
2. ประโยชน์ของงานช่างพื้นฐาน
3. ลักษณะขอองงานช่างพื้นฐาน
4. ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานช่าง

กระบวนการจัดการเรียนรู้
1. ครูซักถามนักเรียนเกี่ยวกับงานช่างที่นักเรียนรู้จักโดยใช้แนวคำถามดังนี้
- นักเรียนรู้จักช่างอะไรบ้าง
- การรู้จักงานช่างมีประโยชน์อย่างไร
2. ให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน
3. แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ
4. ครูให้นักเรียนดูภาพงานช่างชนิดต่าง ๆ แล้วสุ่มถามนักเรียน 2-3 คนว่างานช่างที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในบ้านนั้นมีช่างอะไรบ้าง
5. ครูอธิบายถึงความสำคัญ ประโยชน์และลักษณะของงานช่างพื้นฐานว่ามีอะไรบ้าง
6. แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ 4-5 คนให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันหาภาพหรือเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับลักษณะงานช่างพื้นฐานว่ามีอะไรบ้าง แล้วนำมาจัดป้ายนิเทศ
7. ขออาสาสมัครนักเรียนบอกลักษณะที่สำคัญของงานช่างพื้นฐานที่นักเรียนสนใจมากที่สุด
8. ให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายสรุปความรู้เกี่ยวกับงานช่าง
9. สนทนากับนักเรียนเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานช่าง อุบัติเหตุในขณะปฏิบัติงานแล้วเชื่อมโยงเข้ากับความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน
10. ครูสุ่มถามนักเรียนให้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติงาน และวิธีป้องกันแก้ไขว่าทำอย่างไรบ้าง
11. ครูอธิบายเกี่ยวกับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานช่าง
12. ครูให้นักเรียนดูสไลด์หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล แล้วครูอธิบายเพิ่มเติม เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถามตามความสงสัย
13. ให้นักเรียนกลุ่มเดิมแสดงบทบาทสมมติ โดยให้แต่ละกลุ่มจับฉลากเลือกหัวข้อดังต่อไปนี้
1. การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เกิดบาดแผล
2. การปฐมพยาบาลเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
3. การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูด
4. การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก
14. แสดงบทบาทสมมติตามเนื้อเรื่อง โดยให้นักเรียนแสดงวิธีปฐมพยาบาลตามขั้นตอนเมื่อแสดงบทบาทสมมติจบแล้ว ให้หัวหน้ากลุ่มออกมาสรุปหน้าชั้น และครูช่วยสรุปเพิ่มเติม
15.สรุปร่วมกันเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานช่าง

สื่อ / แหล่งการเรียนรู้
1.ภาพตัวอย่างลักษณะงานช่าง วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือ
2.ภาพตัวอย่างสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน

การวัดและประเมินผล
วิธีการวัดและประเมินผล
1. สังเกตพฤติกรรมกลุ่ม
2. สังเกตพฤติกรรมบุคคล
3. สังเกตการอภิปราย
เครื่องมือวัดและประเมินผล
1. แบบประเมินพฤติกรรมกลุ่ม
2. แบบประเมินพฤติกรรมรายบุคคล
3. แบบสังเกตการอภิปราย
เกณฑ์การวัดผลประเมินผล
1. ประเมินพฤติกรรมกลุ่ม ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60
2. ประเมินแบบประเมินพฤติกรรมรายบุคคลผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60
3. ประเมินแบบสังเกตการอภิปรายผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60


ใบความรู้
ความหมาย ความสำคัญและประโยชน์ของงานช่าง
งานช่าง
ช่าง หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในงาน หรือในศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง งานช่างหมายถึง สิ่งที่เป็นผลเกิดจากการทำงานของช่างซึ่งแบ่งออกได้หลายสาขา เช่น ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างโลหะ ช่างยนต์ ช่างประปา เป็นต้น
ความสำคัญของงานช่าง เมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้งานช่างในแต่ละสาขา และได้ทดลองปฏิบัติเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถทำได้ด้วยตนเอง
ประโยชน์ของงานช่าง
1. สามารถใช้เครื่องมือ เครื่องใช้สอยได้อย่างถูกต้อง
2. เข้าใจคุณสมบัติของวัสดุได้อย่างถูกต้อง
3. เข้าใจคุณสมบัติของวัสดุ ซึ่งช่วยทำให้เกิดความประหยัด ทำให้อายุการทำงานของเครื่องมือ เครื่องใช้ยาวนาน
ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานช่าง
การทำงานทุกชนิด ผู้ทำงานจะต้องนึกถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานช่างความปลอดภัยถือว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติงานช่างทีเดียว เพื่อเป็นการป้องกัน และขจัดปัญหา จากการเกิดอุบัติเหตุซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากการใช้เครื่องมือ และเครื่องจักรต่างๆ และแม้ว่าเครื่องมือเครื่องจักรกลสมัยใหม่ ได้รับการออกแบบอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ผู้ใช้ก็ควรใช้อย่าระมัดระวัง โดยการปฏิบัติตามระเบียบของห้องปฏิบัติการ โรงฝึกงาน กฎการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ ตลอดจนการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ถูกต้อง ตรงกับหน้าที่และวิธีการใช้ สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ
1. ระเบียบและกฎความปลอดภัยในโรงฝึกงาน
1.1 ก่อนเข้าห้องปฏิบัติงานใดในโรงฝึกงานนอกเวลาจะต้องได้รับอนุญาตจากครูผู้สอนก่อนทุกครั้ง
1.2 นักเรียนต้องเข้าแถวให้เรียบร้อยเพื่อรับคำสั่งจากผู้สอนก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง
1.3 ขณะที่ปฏิบัติงานต้องแต่งกายรัดกุม ขณะปฏิบัติงานไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับอื่นที่เป็นโลหะรุ่งริ่งจะทำให้เกิดความเสียหายและทำให้เกิดอันตรายได้
1.4 ห้ามหยอกล้อหรือเล่นกันภายในโรงฝึกงานโดยเด็ดขาด
1.5 นักเรียนจะต้องใช้เครื่องมือในการฝึกปฏิบัติงานด้วยความไม่ประมาท
1.6 การเบิกจ่ายเครื่องมือนักเรียนจะต้องเข้าแถวให้เป็นระเบียบ
1.7 เมื่อรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย จงหยุดปฏิบัติงาน อย่าฝ่าฝืนทำงานต่อเพราะอาจจะได้รับอุบัติเหตุได้ง่าย 1.8 หลังเลิกปฏิบัติงานแล้วทุกครั้ง นักเรียนจะต้องรับผิดชอบทำความสะอาดโรงฝึกงานให้เรียบร้อย
1.9 ให้ปฏิบัติตามกฎและระเบียบโรงฝึกงานอย่างเคร่งครัด
2. ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ
2.1 ก่อนใช้เครื่องมือทุกชนิดต้องตรวจดูว่า เครื่องมืออยู่ในสภาพเรียบร้อย พร้อมที่จะ ใช้งานได้
2.2 เครื่องมือประเภทตัดทุกชนิดมีอันตราย เวลาตัดควรระวังนิ้วมือทุกขณะ
2.3 ก่อนเปิดเครื่องสว่านให้หมุน ต้องแน่ใจว่าถอดประแจออกจาจำปาแล้ว
2.4 การเจาะชิ้นงานเล็กควรจับงานไว้ที่แท่นของดอกสว่าน หรือจับด้วยปากกาประจำ แท่นสว่าน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
2.5 การใช้ค้อน อย่าใช้ค้อนที่ด้ามไม่แน่น หรือแตกชำรุด
2.6 การใช้สกัด อย่าใช้สกัดที่มีปลายเยินเป็นรูปดอกเห็ด เพราะรอยเยินนั้นอาจจะกระเด็นออกมา ทำให้เกิดอันตรายได้
2.7 เมื่อตัดโลหะออกแล้วควรใช้ตะไบลบรอยคมออกด้วย
3. ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
ในการทำงานนั้นเป็นช่างจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะถ้าประมาทเลินเล่อก็อาจทำให้เสียทั้งงาน และทรัพย์สินโดยใช่เหตุ หรือบางครั้งอาจเกิดอันตรายถึงพิการหรือเสียชีวิตได้ ความปลอดภัยในการทำงานย่อมเป็นสิ่งปรารถนาของทุก ๆ คน การรู้จักวิธีการทำงาน รู้จักวิธีใช้เครื่องมือด้วยความไม่ประมาทคอยระวังอยู่เสมอ ๆ จะช่วยขจัดปัญหาอุบัติเหตุได้มาก เครื่องมือทุกชนิดแม้จะออกแบบอย่างเหมาะสมแต่ก็อาจจะเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ ด้วยเหตุนี้ผู้ใช้เครื่องมือควรจะระมัดระวังอยู่เสมอ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายจากการทำงาน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายในการทำงานอาจสรุปอย่างกว้าง ๆ ได้ 4 ประการ คือ เกิดจากตัวบุคคลเอง จากเครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุต่าง ๆ เกิดจากสภาพแวดล้อม และเกิดจากการจัดระบบงาน เช่น
1. การแต่งกายไม่รัดกุม ใส่เครื่องประดับ ผมยาว ปล่อยชายเสื้อ ไม่สวมรองเท้า
2. สุขภาพไม่ดี เหน็ดเหนื่อยเกินไป ขาดความรู้และประสบการณ์ ขาดความรอบคอบประมาทไม่ระมัดระวังไม่วางแผนในการทำแผนงานที่กำหนดไว้ ไม่รู้จักประมาณ
3. เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ชำรุด หรือเริ่มชำรุด ไม่ควร ใช้เครื่องมือผิดประเภท ใช้ผิดวิธี หยิบมาใช้งานโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน ใช้แล้วไม่เก็บเข้าที่ ไม่เก็บวัสดุไว้ในที่ปลอดภัย
1. สถานที่ปฏิบัติงานไม่เหมาะสม ไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบ เกะกะ ทำให้การทำงานไม่สะดวกบริเวณงานคับแคบ แสงสว่างไม่เพียงพอ
2. การวางแผนการทำงานไม่ดี ไม่รอบคอบ ทำงานผิดขั้นตอน
แนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาความปลอดภัย
1. ก่อนที่จะใช้เครื่องมือทุกชนิดควรตรวจสภาพก่อนว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย หรือไม่
2. ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช่น แว่นตา ถุงมือเสมอ เพื่อป้องกันอันตราย ที่เกิดจากการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือขัด หรืองานที่ต้องจับต้องสารเคมี
3. การใช้เครื่องมือจับยึดชิ้นงาน ขณะเจาะหรือตัด
4. การทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษก่อนการตรวจซ่อม ควรตัดกระแสไฟฟ้าออกเสียก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าออกได้ ควรใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น ใส่ถุงมือ สวมรองเท้ายาง และยืนบนพื้นที่แห้ง โดยทำงานด้วยความสุขุมรอบคอบจริง
5. ในการใช้เครื่องมือที่สำคัญ เช่นเลื่อย สิ่ว ตะไบ ควรระมัดระวังผู้ปฏิบัติงานข้างเคียง
6. การทำงานในที่อับชื้น ควรใช้พัดลมเป่าช่วยให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น
7. ก่อนที่จะใช้เครื่องมือเครื่องจักรใดๆ ควรศึกษาวิธีการใช้เครื่องมือก่อน
8. ไม่ควรทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องจักรขณะที่กำลังเดินเครื่องอยู่
9. ก่อนและหลังปฏิบัติงานตรวจสอบความเรียบร้อยของสถานที่ทำงานทุกครั้ง
10. ควรเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ไว้ในที่เหมาะสมและแยกเป็นประเภทไว้
การป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ
เราสามารถป้องกันอุบัติเหตุได้ ฉะนั้นวิธีการที่จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ดังนี้
1. ระมัดระวัง ดูแลเครื่องมือเครื่องใช้อยู่เสมอ
2. ระมัดระวังตนเองอยู่ตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน
3. จัดสถานที่ทำงานให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยเหมาะสมที่จะทำงาน
4. การทำงานในที่สูงควรใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการพลัดตก เช่น ใช้เข็มขัดป้องกันภัย
5. ในกรณีที่จำเป็นต้องทำงานใกล้เชื้อเพลิง ควรมีน้ำยาดับเพลิงวางไว้ใกล้ ๆ


หลักการเกี่ยวกับความปลอดภัย
เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ควรจะยึดหลักที่เรียกว่า 5 ส. ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย โดยเขียนเป็นตารางได้ดังนี้
หลักการ
1. สะสาง
การขจัดสิ่งของที่ไม่ต้องการออก
ผลจากการไม่ดำเนินการ
- เสียเวลาค้นหาสิ่งของ
- ตรวจสอบยากว่ามีของที่ต้องการอยู่หรือไม่
- สถานที่ปฏิบัติงานมีน้อย
- สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแล
ผลจากการดำเนินการ
- หาสิ่งของที่ต้องการได้ง่าย
- มีพื้นที่ว่างฝึกปฏิบัติงาน
2. สะดวก จัดของที่ใช้ให้เป็นระเบียบโดยคำนึงถึงความปลอดภัย
ผลจากการไม่ดำเนินการ
- ดูแลรักษายาก
- เป็นบ่อเกิดของอุบัติเหตุ
- เสียเวลาค้นหา
ผลจากการดำเนินการ
- รักษาคุณภาพของสิ่งต่าง ๆได้ง่าย
- ลดการเกิดอุบัติเหตุ
- ไม่เสียเวลาในการหยิบใช้
- ตรวจสอบสิ่งของได้ง่ายขึ้น
3. สะอาด ทำความสะอาดสถานที่ปฏิบัติงานเครื่องมือ,อุปกรณ์ต่างๆให้เรียบร้อย
ผลจากการไม่ดำเนินการ
- สถานที่ปฏิบัติงานรกรุงรัง
- เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ชำรุดเสียหาย วางไม่เป็นระเบียบ
ผลจากการดำเนินการ
- สถานที่ปฏิบัติงานสะอาดเหมาะสมกับการฝึกปฏิบัติงาน
- เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที
4. สุขลักษณะ จัดสถานที่ฝึกปฏิบัติงานให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อสุขภาพอนามัยของตนเองและผู้ร่วมงาน
ผลจากการไม่ดำเนินการ
- เกิดมลภาวะต่าง ๆ เช่น ฝุ่นละออง อับชื้น กลิ่น เสียงดัง
- เสียสุขภาพจิต
- ไม่กระตือรือร้น
ผลจากการดำเนินการ
- สถานที่ปฏิบัติงานมีความร่มรื่นปลอดโปร่งอากาศถ่ายเทดี
- มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี
5. สร้างนิสัย ปฏิบัติ 4 ส แรก จนเกิดทักษะและติดนิสัยของตนเอง
หมายเหตุ
- ฝึกทักษะจนติดเป็นนิสัยที่ดีในการปฏิบัติงาน เช่น รักษาความสะอาดมีระเบียบวินัยในการ
ปฏิบัติงาน
- คำนึงถึงความปลอดภัย และกฎของโรงฝึกงาน

หลักและวิธีการปฐมพยาบาล
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เกิดบาดแผล
1. ถ้าผู้ป่วยที่เป็นลมหรือหมดสติต้องรีบแก้ไขให้ฟื้นสู่สภาพปกติและทำความสะอาดบาดแผล
2. เมื่อโลหิตหยุดไปแล้ว ควรชำระล้างแผลให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์
3. ถ้าเกิดแผลเล็กน้อย เช่น แผลรอยถลอก รอยขีดขวนเมื่อทำความสะอาดบาดแผล
แล้ว ควรใส่ยาแผลสดอีกครั้ง
4. ถ้าเกิดบาลแผลฉกรรจ์ ควรปฐมพยาบาลไปพร้อม ๆ กับการนำส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
1. ควรลืมตาในน้ำสะอาด และกระพริบตาช้า ๆ
2. ควรดึงเปลือกตาทั้งบนและล่างให้ห่างออกจากกัน เพื่อสำรวจหาสิ่งแปลกปลอม
ถ้าพบควรใช้ผ้าสะอาดเขี่ยออก
3. ถ้ารู้สึกว่ายังมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ ควรใช้ผ้าแห้งปิดทับไว้แล้วรีบไปพบแพทย์
4. ในกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมฝังลงในตา ไม่ควรขยี้ตาหรือใช้ของแหลมเขี่ยออก
ควรหลับตาและใช้ผ้านิ่ม ๆ วางทับเปลือกตาไว้แล้วรีบไปพบแพทย์
5. เมื่อผู้ป่วยถูกกรดหรือด่างกระเด็นเข้าตา ต้องรีบใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและตาโดยเร็ว
ก่อนจะไปพบแพทย์



หลักในการเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม

การเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาครบถ้วน และได้ปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยมีหลักในการเลือก ดังนี้
1. เลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทั้ง 5 หมู่
2. เลือกอาหารที่สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม มีบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มที่สะอาด
3. เลือกอาหารที่สดและใหม่ ไม่บูด เน่า เสีย
4. เลือกอาหารที่ไม่แข็งหรือเหนียวเกินไป เพราะจะทำให้ย่อยยาก
5. เลือกบริโภคอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผักและผลไม้ต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การทำงานของระบบขับถ่ายปกติ
6. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
7. เลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำผลไม้
8. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังประเภทต่าง ๆ และเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด


วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การเลี้ยงปลาดุก

การเลี้ยงปลาดุก

ปลาดุก แบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ คือ ปลาดุกน้ำจืด และปลาดุกทะเล
ปลาดุก จะมีลักษณะเป็นปลาไม่มีเกล็ด มีหนวด 4 เส้นที่ริมฝีปาก ผิวหนังมีสีน้ำตาล บริเวณครีบด้านลำตัวทั้งสองข้างมีเงี่ยงแหลมคมใช้เป็นอาวุธเพื่อยักศัตรู เนื้อมีสีเหลือง

การเพาะพันธุ์ปลาดุก
บ่อเพาะพันธุ์ควรมีเนื้อที่ตั้งแต่ 4ไร่ถึง 20 ไร่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีคันบ่อสูงกว่าพื้นดินประมาณ 50 ซม. ลึกประมาณ 1.25 เมตร กว้าง 3เมตร คูนี้จะใช้เป็นที่เพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ ภายในบ่อจะขุดร่องเล็ก ๆ ลึกประมาณ 50 ซม. แบ่งท้องนาออกเป็นแปลงยาว ๆหลาย ๆ แปลงแต่ละแปลงกว้างประมาณ 3เมตร บนแปลงนาเหล่านี้เกษตรกร จะขุดหลุมเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ 25 ซม.ลึก 25 ซม. ห่างกันหลุมละประมาณ 1เมตร และปล่อยให้หญ้าขึ้นเองตามธรรมชาติ

วิธีการเพาะพันธุ์
การปล่อยพ่อแม่พันธุ์จะปล่อยในอัตราส่วน 100 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ400-600 ตัว/ไร่
ฤดูกาลเพาะจะเริ่มในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูหนาว สูบน้ำเข้าบ่อให้ท่วมพื้นที่บ่อประมาณ 25-30 ซม. พ่อแม่พันธุ์จะขึ้นมาวางไข่ที่หลุมที่เตรียมไว้ และจะเฝ้าดูแลตัวอ่อนอยู่ในหลุม ลูกปลาจะอยู่ในหลุมจนประมาณ 10 วัน ก็จะเริ่มออกจากหลุมดังนั้นเมื่อสูบน้ำเข้าประมาณ 9-10 วันต้องรีบจับลูกปลา

นอกจากนั้นควรมีการโรยปูนขาวด้วยเป็นครั้งคราว การเพาะครั้งต่อไป จะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไปเป็นเวลาประมาณ 12-14 วันแล้วจึงสูบน้ำเข้าบ่อเพื่อเริ่มการเพาะครั้งต่อไป โดยปกติจะจับลูกปลาได้ประมาณ 1,000ตัว/หลุมหรือ20,000-350,000ตัว/ไร่ ถ้าผลิตได้ต่ำกว่า 100,000ตัว/ไร่ติดต่อกัน ควรตรวจดูปริมาณพ่อแม่พันธุ์ว่ามีมากหรือน้อยเกินไป หรืออาจจะเปลี่ยนพ่อแม่พันธุ์ทั้งชุดเลยก็ได้
การอนุบาลลูกปลา ลูกปลาที่มีขายในท้องตลาดจะมี 3ขนาดคือ 1-1.2 ซม.เป็นลูกปลาที่มีอายุ8-12 วัน ซึ่งตักตรงมาจากบ่อ ลูกไรนี้หากอนุบาลประมาณ 2สัปดาห์จะได้ลูกปลาขนาด 3-4 ซม.เรียกว่าปลาคว่ำบ่อ ซึ่งเป็นที่นิยมในการซื้อไปเลี้ยง บางฟาร์มจะอนุบาลลูกปลาถึง 30-35วันจะได้ปลาเซ็น(ขนาด3-5 ซม.) การอนุบาลทำได้ 2แบบคือ อนุบาลในบ่อคอนกรีตและบ่อดิน
วิธีการเลี้ยงและการให้อาหาร
บ่อเลี้ยงปลาดุกควรพิจารณาเป็นพิเศษ แตกต่างจากการเลี้ยงปลาชนิดอื่น ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องจากปลาดุกมีนิสัยชอบหนีออกจากบ่อเลี้ยง โดยเฉพาะขณะที่ฝนตกน้ำไหลลงในบ่อ ปลาจะว่ายทวนน้ำออกไป การป้องกันโดยการล้อมขอบบ่อด้วยตาข่ายไนล่อนก่อน ซึ่งให้มีความสูงประมาณ 50 ซม. อัตราการปล่อยในเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ควรปล่อยปลาประมาณ 60 ตัว สำหรับบ่อปลาที่มีการถ่ายเทน้ำได้สะดวก จะเพิ่มจำนวนปลาให้มากกว่านี้เล็กน้อยก็ได้ แต่ไม่ควรปล่อยปลาให้แน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ปลาโตช้าและทำอันตรายกันเอง

อาหาร
ปลาดุกเป็นปลาที่มีนิสัยการกินอาหารได้ทั้งเนื้อและพืช ซึ่งพอจะแบ่งได้ดังนี้
1.อาหารจำพวกเนื้อ ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมตามที่จะหาได้ หรือเครื่องในสัตว์ตลอดจนเลือดสัตว์ และพวกแมลง เช่น ปลวก หนอน ไส้เดือนฯลฯ
2.อาหารจำพวกพืชผัก ได้แก่ รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว กากมัน แป้ง ข้าวโพด และผักต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มอาหาร อาจให้มูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลหมู มูลสัตว์เหล่านี้จะเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ปลาดุกได้เป็นอย่างดี
โดยทั่วไปแล้วปลาดุกชอบกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ มากกว่าอาหารประเภทพืช แต่การให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียว จะทำให้ปลาเจริญเติบโตไม่ได้สัดส่วน เช่น อาจทำให้ตัวอ้วนสั้น มีไขมันมากเกินไป ดังนั้น เพื่อให้ปลาโตได้สัดส่วนมีน้ำหนักดี ควรให้อาหารประเภทเนื้อในอัตรา 30-50 % ของอาหารประเภทพืชบริเวณที่ให้อาหารในแต่ละครั้งควรให้อาหารในที่เดียวกัน และควรให้อาหารเป็นเวลา เพื่อฝึกให้ปลารู้เวลาและกินอาหารเป็นที่ ปริมาณการให้อาหารควรให้อาหาร 5 % ของน้ำหนักตัวต่อวันปัจจุบันการเลี้ยงปลาดุกจะใช้อาหารสำเร็จรูปและจะเสริมพวกอาหารสด เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าอาหาร และทำให้ปลาโตเร็ว แต่ข้อเสียของการให้อาหารสดคือ จะทำให้น้ำเสียได้ง่าย ดังนั้นควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ ประมาณเดือนละ 1-2 ครั้ง


การแปรรูป นิยมนำมาทอด ในรูปปลาแดดเดียว ปลาเค็ม
ส่วนผสม
ปลาทั้งตัว 10 กิโลกรัม
เกลือ 1 กิโลกรัม
น้ำ 9 กิโลกรัม
วิธีทำ
1.ตัดหัว ควักไส้ปลา ล้างสะอาด แล้วบั้งทั้งตัว ข้างละ 3-4 รอย
2.เกลือผสมน้ำให้ละลาย แช่ปลาในน้ำเกลือ ประมาณ 30 นาที
3.นำปลาไปตากแดด 5 -8 ชั่วโมง ถ้าต้องการปลาเค็มไว้รับทานนานๆ ควรตากให้แห้งสนิท